START-UP: รู้จัก ‘Burn rate’ และ ‘การแบ่งหุ้น’ ชี้ชะตาชีวิตสตาร์ทอัพ
In Summary
START-UP ซีรีส์ขวัญใจของเราในขณะนี้ เดินทางมาถึงครึ่งเรื่องแล้ว ที่ผ่านมามีฉากเด็ดๆ มากมายที่ชวนให้เราต้องขบคิดไปกับเรื่องของการก่อตั้งธุรกิจ ซีรีส์เรื่องนี้แสดงให้เราเห็นว่า ไม่มีอะไรทำได้ง่ายเหมือนที่คิดไว้ตอนเริ่มต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความกดดันเรื่องเงิน และผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
เราคงเห็นกันในซีรีส์แล้วว่าความกดดันของเหล่าซัมซานเทคมีมากแค่ไหนเมื่อพูดถึงเรื่องการแบ่งหุ้น และความเครียดก็ยิ่งมากขึ้นไปอีกเมื่อคำนวณ Burn rate จนทำให้ซอดัลมีของเราต้องดั้นด้นไปขอทุนจากหลายบริษัท เพื่อให้ซัมซานเทคสร้างนุนกิลต่อไปได้
วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับ ‘รูปแบบการแบ่งหุ้น’ และ ‘Burn Rate’ ในวงการสตาร์ทอัพ ว่ามันคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และทำไมทุกคนถึงต้องเคร่งเครียดกับมันขนาดนี้
- ในซีรีส์ START-UP แสดงให้เห็นถึงความตึงเครียดของการแบ่งหุ้น และการคำนวณอัตราการเผาเงินทุน (Burn rate) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความอยู่รอดของสตาร์ทอัพ
- การแบ่งหุ้นมีข้อควรระวังหลักคือไม่ควรแบ่งเท่ากันทุกคน ควรแบ่งตามแรงงาน แรงเงิน และแรงสมองที่ลงไป และเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์
- Burn rate หรืออัตราการเผาทุนคือ ค่าใช้จ่ายต่อเดือนช่วงที่บริษัทใช้เงินทุนที่ได้มาโดยยังไม่มีรายรับเข้ามา ซึ่งถือเป็นตัวชี้ชะตาว่าบริษัทจะอยู่ในสภาพแบบนี้ไปได้อีกกี่เดือน และทุนหมดเมื่อไหร่ ก็จบเมื่อนั้น
START-UP ซีรีส์ขวัญใจของเราในขณะนี้ เดินทางมาถึงครึ่งเรื่องแล้ว ที่ผ่านมามีฉากเด็ดๆ มากมายที่ชวนให้เราต้องขบคิดไปกับเรื่องของการก่อตั้งธุรกิจ ซีรีส์เรื่องนี้แสดงให้เราเห็นว่า ไม่มีอะไรทำได้ง่ายเหมือนที่คิดไว้ตอนเริ่มต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความกดดันเรื่องเงิน และผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
เราคงเห็นกันในซีรีส์แล้วว่าความกดดันของเหล่าซัมซานเทคมีมากแค่ไหนเมื่อพูดถึงเรื่องการแบ่งหุ้น และความเครียดก็ยิ่งมากขึ้นไปอีกเมื่อคำนวณ Burn rate จนทำให้ซอดัลมีของเราต้องดั้นด้นไปขอทุนจากหลายบริษัท เพื่อให้ซัมซานเทคสร้างนุนกิลต่อไปได้
วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับ ‘รูปแบบการแบ่งหุ้น’ และ ‘Burn Rate’ ในวงการสตาร์ทอัพ ว่ามันคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และทำไมทุกคนถึงต้องเคร่งเครียดกับมันขนาดนี้
Photo from: Unsplash
แบ่งหุ้นยังไงให้ไม่แตกคอกัน?
ในตอนหนึ่งของเรื่อง เราจะเห็นว่าซัมซานเทคผู้ยังไม่ช่ำชองในการสร้างโมเดลธุรกิจมากนัก ตัดสินใจแบ่งหุ้นให้ทุกคนคนละเท่าๆ กัน แต่พอหัวหน้าทีมฮันเห็นอย่างนั้นก็โมโหมาก และสั่งให้แบ่งหุ้นใหม่ทั้งหมด โดยให้ตั้ง ‘Keyman’ ขึ้นมาหนึ่งคน และเทหุ้น 60-80 เปอร์เซ็นต์ไปที่คนคนนั้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนที่จะเข้ามาในอนาคต
ดูถึงตรงนี้หลายคนอาจมีคำถามว่าแล้วการแบ่งหุ้นเท่ากันมันไม่ดีตรงไหน? และทำไมนักลงทุนถึงจะไม่เชื่อมั่นหากแบ่งหุ้นลักษณะนี้?
เพราะการแบ่งหุ้นอย่างเท่าเทียมนอกจากจะแสดงถึงความไม่เชื่อมั่นในตัวผู้ก่อตั้งแล้ว (ถ้าเชื่อมั่นทำไมไมให้ถือหุ้นเยอะล่ะ?) ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาที่จบไม่ลงเมื่อความเห็นไม่ตรงกัน เพราะเสียงเท่ากัน และไม่รู้จะให้ใครชนะดี นอกจากนี้ในความเป็นจริงแล้ว หุ้นส่วนทุกคนไม่มีทางที่จะลงทุน ลงแรง ลงสมองได้เท่ากันเป๊ะ จะมีคนที่ทำน้อยกว่า และคนที่ทำมากกว่าเสมอ สุดท้ายแล้วคนที่รู้สึกแย่คือคนที่ทำมาก แต่กลับต้องเห็นอีกฝ่ายที่ทำน้อยได้ประโยชน์เท่ากัน
การแบ่งหุ้นที่ดี และหลายบริษัทนิยมใช้กัน คือการแบ่งหุ้นแบบ ‘Dynamic Equity Split (DES)’ เป็นการพิจารณาจากหลายปัจจัย ได้แก่
- ความทุ่มเทและเวลาในการทำงาน
- เงินทุนที่ลงไป
- จำนวนและคุณภาพของไอเดียที่คิดได้
- ความช่วยเหลือในการจัดหาอุปกรณ์และสำนักงาน
- ความสัมพันธ์ หรือคอนเนคชันที่มีประโยชน์
โดยการแบ่งแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่กำหนดอย่างตายตัว จะต้องมีการประเมินใหม่ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง การแบ่งหุ้นแบบนี้จะทำให้ผู้ถือหุ้นมีกำลังใจทำงาน และเป็นการแบ่งที่ค่อนข้างยุติธรรม ใครทำเท่าไหร่ก็จะได้เท่านั้น
Photo from: Unsplash
Burn rate อัตราการเผาของเงินทุน ชี้ชะตาชีวิต
สตาร์ทอัพกว่า 82 เปอร์เซ็นต์จบลงเพราะปัญหาเรื่องกระแสเงินสด และแน่นอนว่าซัมซานเทคของเราคงไม่อยากเป็นหนึ่งในนั้น นั่นคือสาเหตุที่ทำไมซอดัลมีต้องมานั่งคิด Burn rate ขึ้นกระดานให้ทุกคนดู
อัตราการเผาเงินทุน (Burn rate) คือค่าใช้จ่ายต่อเดือนช่วงที่บริษัทใช้เงินทุนที่ได้มาโดยยังไม่มีรายรับเข้ามา ซึ่งถือเป็นตัวชี้ชะตาว่าบริษัทจะอยู่ในสภาพแบบนี้ไปได้อีกกี่เดือน และทุนหมดเมื่อไหร่ ก็จบเมื่อนั้น โดยจะคิดเป็นจำนวนเงินทั้งหมดที่ใช้ต่อเดือน
บริษัทที่มี Burn rate 100,000 บาทต่อเดือน เท่ากับว่าบริษัทนั้นใช้เงิน 100,000 บาทต่อเดือน และนำไปหารกับเงินทุนที่เหลืออยู่ เช่น ถ้าเหลืออยู่ 400,000 แสดงว่าคุณมีเวลาอยู่แค่ 4 เดือน
และถึงแม้ว่าบริษัทจะมีรายรับแล้ว แต่ถ้านั่นยังน้อยกว่ารายจ่าย ก็ต้องคิด Burn rate ไปเรื่อยๆ เช่นถ้ามีรายรับเดือนละ 10,000 Burn rate ก็จะเหลือ 90,000 ซึ่งอาจยืดอายุบริษัทไปได้อีกนิด
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนแนะนำว่าคุณควรมีเงินให้อยู่รอดได้ต่อไปอย่างน้อย 6 เดือน คำศัพท์อีกคำที่ใช้คู่กันคือ ‘Runway’ หรือระยะเวลาที่บริษัทยังอยู่รอดได้ นั่นหมายความว่าถ้าคิดตามจำนวนข้างต้น บริษัทจะปลอดภัยในระดับหนึ่งหากมีเงินเหลือ 600,000 บาท เพราะมันจะปลอดภัยกว่าถ้าต้องเจอกับขาลงของตลาด ปัญหาที่ไม่คาดคิด หรือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
เข้าใจกันมากขึ้นแล้วใช่มั้ยว่าทำไมซอดัลมีและหัวหน้าฮันของเราถึงเคร่งเครียดกันสุดๆ ทีนี้ก็กลับไปเกาะจอรอดูตอนต่อไปกันได้แล้ว รับรองว่าถ้ามีเกร็ดความรู้ดีๆ จากซีรีส์สุดฮิต เราจะรีบเอามาฝากทุกคนกันอีกแน่นอน
อ่านเรื่องเกี่ยวกับสตาร์ทอัพต่อได้ที่ รู้จักกับ K-STARTUP: Sandbox แห่งสตาร์ทอัพ ที่มีอยู่จริงของเกาหลีใต้ และเปิดโอกาสให้คนทั่วโลก
Source
อัปเดตคอร์สใหม่และส่วนลดคอร์สต่างๆ
Thank you!
Policy Pages
Copyright © 2022
รับสิทธิพิเศษก่อนใคร แอดไลน์ @shiftyourfuture