เปิดแนวคิด “โจ้ - นทธัญ” กับการสร้างเรื่องด้วยพอดแคสต์ ศาสตร์แห่งเสียงที่ยังมีอนาคต

พอดแคสต์ (Podcast) เป็นสื่อที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในไทย เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว คนในวงการสื่อหันมาจัดรายการกันมากมาย แต่ในปัจจุบันกระแสพอดแคสต์กลับลดลงไป ในบทความนี้ จะมาหาคำตอบกันว่า การทำพอดแคสต์ยังน่าเรียนรู้อยู่หรือไม่ และอนาคตจะเป็นอย่างไร ผ่านมุมมองของผู้ที่อยู่ในวงการพอดแคสต์มานานอย่าง โจ้ - นทธัญ แสงไชย Podcaster และ Station Director จาก Salmon Podcast

 

ความสม่ำเสมอ คาแรคเตอร์ ปัจจัยสำคัญของการทำพอดแคสต์

Salmon Podcast เป็นชื่อที่คนในวงการสื่อรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี กับทำรายการพอดแคสต์แนวบันเทิง และตั้งแต่เริ่มประกาศเข้าสู่วงการพอดแคสต์ครั้งแรกในเดือนกันยายน ปี 2019 ก็ยังคงความสม่ำเสมอมาจนถึงทุกวันนี้

“ผมรู้สึกว่าก่อนหน้านี้มันเป็นกระแส คนอยากทำพอดแคสต์ อยากมีรายการเป็นของตัวเอง แต่ปัจจุบันกระแสลดลง เหลือแต่คนที่ทำจริงจัง เป็นตัวจริง แต่ก็เป็นจังหวะที่จะมีคนเข้ามาติดตามมากขึ้น ตามอย่างจริงจัง” โจ้ – นทธัญ เปิดให้สัมภาษณ์กับ SHiFT Your Future ก่อนกล่าวต่อว่า การเป็นตัวจริงนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าต้องลงทุนมากมาย เพราะหลายคนก็เริ่มที่ทำกันเองแค่ 1 รายการ ถ้าทำอย่างจริงจัง ก็จะทำให้คนหันมาสนใจและมีแฟนติดตามอย่างเหนียวแน่น

นอกจากความสม่ำเสมอแล้ว อีกอย่างหนึ่ง คือ คาแรคเตอร์ การมีคาแรคเตอร์ชัด การมีภาพให้คนจำได้ว่ารายการนำเสนออะไรเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะคนที่เข้าฟังพอดแคสต์เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะเลือกสไตล์ที่ตัวเองอยากฟัง

Salmon Podcast จะมีคอนเซปต์ว่า “มันส์ สด อร่อย” ทำพอดแคสต์แนวบันเทิง เช่น การนำเรื่องคดีฆาตกรรม เรื่องลึกลับ หรือเรื่องเที่ยวมาเล่า ส่วนรายการที่มีสาระหน่อยก็จะทำให้ดูสนุกขึ้น แม้กระทั่งรายการกฎหมายก็จะนำสิ่งที่มันเป็นกระแสในโซเชียล มาพูดถึงในเชิงกฎหมายให้สนุก

“1 เดือนที่ผ่านมามียอดคนฟังเพิ่มขึ้น 3 เท่า ทำให้รู้สึกว่าคาแรคเตอร์ของ Salmon เป็นที่จดจำของกลุ่มผู้ฟัง อีกส่วนหนึ่งคือชีวิตคนเริ่มเข้าที่เข้าทางมากแล้วเขาก็จะเริ่มกลับมาหาอะไรฟังกัน”

โจ้ กล่าวต่อว่า ทีมงานจะคุยกันตลอดว่า รายการต้องเน้นความเป็นเนิร์ด (Nerd) เพราะคนที่อินกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เวลามาเล่าแล้วมันจะสนุก เพราะจุดอ่อนอย่างหนึ่งของพอดแคสต์ที่รู้สึกได้ คือ หลายๆ รายการมันเหมือนให้ใครมาจัดก็ได้ แค่ไปค้นหาข้อมูลมาเล่า ซึ่งไม่ใช่ว่ามันไม่ดี แต่มันขาดความอยากจะพูดหรืออยากจะเล่า

พอดแคสต์ไทย ยังขาดความหลากหลาย

ในตลาดปัจจุบันจะเห็นว่าคนทำพอดแคสต์เชิงสัมภาษณ์เยอะมาก เพราะมันก็ทำได้ง่ายๆ แค่เอาคนที่รู้ในเรื่องต่างๆ มาคุยกับพิธีกร

“ผมคิดมาตลอดว่าพอดแคสต์ในไทยมันต้องการความวาไรตี้ เราเองก็พยายามสร้างรายการใหม่ๆ ซึ่งสิ่งที่เราจะต้องการความคิดสร้างสรรค์”

โจ้ กล่าวต่อว่า พอดแคสต์ในต่างประเทศนั้นไปไกลมาก มีรายการที่สัมภาษณ์คนมาก่อน แต่เมื่อเอามาลงพอดแคสต์ ก็อัดเสียงตัวเองเพิ่มเข้าไปอีกทีเป็น Pre interlude หรืออีกรายการหนึ่งก็ทำเป็นสารคดี เป็นการเขียนสคริปต์และมีคนมาพากย์ ยกตัวอย่าง The Habitat ที่ทำเป็นสารคดีการจำลองใช้ชีวิตดาวอังคาร โดยให้ทีมงานไปสัมภาษณ์คนที่นั่น และอัดเสียงให้เหมือนขณะนั่งรถอยู่บนดาวอังคารเข้าไป มีการบรรยายบรรยากาศพร้อมเสียงรอบข้างให้คนรู้สึกเหมือนได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ ส่วนตัวมองว่ามันสนุกมาก

 

คลับเฮาส์ไม่กระทบตลาดพอดแคสต์

คนส่วนหนึ่งอาจจะมองว่าการมาของคลับเฮาส์เมื่อต้นปีที่ผ่านมาทำให้ความนิยมของพอดแคสต์ลดลง แต่ โจ้ กลับมองว่า คลับเฮาส์ กับ พอดแคสต์ นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

โจ้ อธิบายว่า พอดแคสต์เป็นคอนเทนต์แบบงานคราฟต์ ทำการทำโปรดักชัน ผ่านการตัดต่อเสียง และกลับมาฟังเมื่อไหร่ก็ได้ ขณะที่คลับเฮาส์เป็นการจัดรายการสด ผู้คนมีส่วนร่วมขณะดำเนินรายการ

“อาจจะมีคนจากวงการพอตแคสต์ไปทำไปคลับเฮาส์บ้าง แต่สุดท้ายมันจะไม่กระทบกัน เพราะผมว่าเสน่ห์มันต่างกัน และหลายๆ ครั้งเวลาที่เราจัดรายการ Live เป็นวิดีโอด้วย มันจะออกมาเป็นพอดแคสต์ไม่ได้ เว้นแต่ว่าเราจะบอกตัวเองว่าเราจะพยายามทำหลายๆ อย่างให้คนนึกภาพตามได้โดยที่ไม่ต้องดูภาพประกอบ”


คอนเทนต์ต้องดี ผู้จัดมีชื่อเสียง

“ผมมองว่าอาชีพ Podcaster ยังเลี้ยงตัวเองได้” แต่ในเมืองไทยมันมีความเป็นตลาดอินฟลูเอนเซอร์อยู่พอสมควร หมายความว่า ถ้าจะทำพอดแคสต์ก็ต้องสร้างตัวเองให้เป็นคนมีชื่อเสียงในด้านที่คุณอินกับมัน

โจ้ กล่าวว่า ในฐานะที่ทำสถานีที่มีหลายรายการ ผมรู้สึกว่าต่อไปการทำพอดแคสต์ใหม่ 1 รายการเพื่อจะโปรโมทแบรนด์ หรือสิ่งที่แบรนด์ต้องการจะนำเสนอ มันจะน้อยลงประมาณหนึ่ง เพราะมันต้องสร้างฐานแฟนใหม่ และต้องเชื่อมไปที่แบรนด์ได้

ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ แบรนด์จะเลือกสนับสนุนรายการที่เป็นรายการที่ดีอยู่แล้ว มีคนติดตามอย่างเหนียวแน่น ประกอบกับเป็นกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์

“เราเองก็จะต้องมีความชัดเจน ว่าจะพูดคุยกับกลุ่มตลาดแบบไหน เราจะทำคอนเทนต์อะไรได้บ้าง เพื่อที่จะรับงานจากแบรนด์ได้ด้วย”

ปัจจุบันมีหลายบริษัทสื่อพี่พยายามจะสร้างสื่อใหม่ๆ และมีพอดแคสต์อยู่ในนั้นด้วย ก็จะสร้างความหลากหลายให้วงการนี้

“ส่วนตัวไม่ได้รู้สึกว่าจะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น เพราะตลาดพอดแคสต์ยังไม่ได้ใหญ่มากในประเทศไทย ผมอยากให้คนทำพอดแคสต์ในแบบที่ตัวเองชอบ แล้วมาดูกันว่าวงการนี้มันจะไปได้ไกลแค่ไหน ซึ่งส่วนตัวมองว่ามันจะไปได้ไกลมากกว่านี้”

 

ทักษะที่ต่อยอดอาชีพคนทำคอนเทนต์

คนอาจจะสงสัยว่าแล้วการเรียนรู้การทำพอดแคสต์มันจำเป็นหรือไม่ ถ้าเรียนแล้วทำแล้วสำเร็จก็ดี แต่ถ้าทำแล้วไม่สำเร็จจะสูญเปล่าหรือไม่

โจ้ ตอบในประเด็นนี้ว่า การทำงานพอดแคสต์นั้นจะได้ทักษะหลายอย่าง เช่น งานเขียนสคริปต์ งานเขียนคอนเทนต์ ทำงานวิดีโอ หรือแม้แต่ทักษะในการดำเนินรายการ เช่น ทำรายการสดใน Facebook หรือไปจัดคลับเฮาส์

การจัดพอดแคสต์ มันทำให้เราเข้าใจเรื่องของเสียงมากขึ้น การสร้างบรรยากาศในการบันทึกเสียง เวลาที่จัดรายการกับคนที่เจนเวทีพอดแคสต์มากๆ จะทำให้รู้สึกอุ่นใจ เพราะเขาสามารถคัทในจังหวะที่ถูกต้องได้ หรือเมื่อมีเสียงรบกวนก็จะรู้ได้ทันที และหยุดพูดก่อนจะกลับมาพูดใหม่

อีกส่วนหนึ่งคือ ทำพอดแคสต์นั้นง่ายกว่าการทำช่อง YouTube มาก เพราะใช้ต้นทุนไม่มาก ถึงแม้ว่ามันจะมีรายละเอียดเรื่องการเก็บเสียง แต่ก็เป็นเรื่องที่เรียนรู้กันได้ ซึ่งการที่คนอยากจะทำรายการส่วนตัว ก็จะเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้คนได้เล่าเรื่องที่รู้สึกอินกับมัน ซึ่งสุดท้ายอาจจะเป็นช่องทางหนึ่งให้คนได้แสดงความเป็นตัวเองผ่านเสียงได้ด้วย

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

-เปิดมุมมอง “รัฐโรจน์ พณิชย์จุติ” กับอนาคตงานศิลปะ NFT และเป้าหมายสู่ระดับโลกของ NextArt
-เปิดมุมมอง “สิริวัฒน์ เกียรติเจริญสิน” FinTech กับแต้มต่อของธุรกิจหากเข้าใจการเงินยุคใหม่
Created with