ส่อง 7 เทคนิคการลงทุน เลือกวิธีไหนดีให้พอร์ตโต

การลงทุนนั้นมีเทคนิคมากมายในการทำกำไร บางวิธีนั้นก็ดูเหมือนจะเข้าใจง่าย บางวิธีนั้นก็มีความซับซ้อน แต่วิธีไหนล่ะ เป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด

ในบทความนี้ จะมาแนะนำเทคนิคต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย และแต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียอย่างไร

 
ซื้อถูกขายแพง

วิธีคิดแบบง่ายที่สุดของนักลงทุน คือ ซื้อหุ้นถูกและไปขายแพง เช่น ซื้อหุ้นในราคา 1 บาท และหวังว่าจะขายในราคา 2 บาท ได้กำไรเท่าตัวง่ายๆ ซึ่งเป็นเทคนิคที่เข้าใจง่าย แต่ทำยาก

ปัญหาของเทคนิคนี้ คือ ไม่มีใครรู้ว่าหุ้นตัวไหนจะลงมาให้ซื้อและขึ้นไปให้ขายตอนไหน ในทางปฏิบัติ การซื้อหุ้นในราคาที่ถูก และไปขายเมื่อหุ้นแพงเป็นเรื่องยากมาก และถึงแม้จะซื้อหุ้นในขาลงมาได้ก็อาจต้องใช้เวลามากในการที่หุ้นจะกลับไปในจุดที่คุณต้องการขาย หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นอีกเลย

 
ทยอยซื้อเพื่อเฉลี่ยต้นทุน

เทคนิคการลงทุนนี้ เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ซื้อกองทุนแบบสะสม เพราะราคาของกองทุนนั้นไม่ค่อยผันผวน ซึ่งการทยอยซื้อในหุ้นก็ทำได้เช่นกัน ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าเทคนิคนี้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อสร้างผลกำไรมากๆ แต่การเฉลี่ยการลงทุนจะเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงในความผันผวนของตลาดได้ดีกว่าการโยนเงินก้อนใหญ่เข้าไปซื้อหุ้นในครั้งเดียว

 
นำกำไรกลับมาลงทุน

เป็นการนำเงินกำไรจาก เงินปันผล จากการขายหุ้นตัวอื่น ไปลงทุนใหม่ เป็นเทคนิคที่ถูกต้องและนักลงทุนสมควรทำอย่างสม่ำเสมอ

เพราะการนำผลกำไรไปลงทุนใหม่ จะทำให้พอร์ตของเราสามารถสร้างกำไรได้มากขึ้น และการทบต้นไปเรื่อยๆ จะช่วยขยายพอร์ตให้เติบโตได้หลายเท่าตัวในระยะยาว

 
กระจายการลงทุน

การกระจายความเสี่ยงไม่ใช่เทคนิคที่ซับซ้อน แต่เป็นแนวทางที่ควรปฏิบัติ เพราะการนำเงินทั้งหมดไปลงทุนในที่เดียว เมื่อเกิดความผิดพลาดก็จะสูญเงินจำนวนมาก หรืออาจจะต้องทนขาดทุนไปอีกหลายปีกว่าจะกลับมาเท่าทุนได้

ซึ่งในปัจจุบันโลกการลงทุนนั้นเปิดกว้างมากขึ้น คนสามารถไปลงทุนทั่วโลกได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นการกระจายพอร์ตลงทุนไว้หลายๆ ประเทศ จึงเป็นการลดความเสี่ยงในการลงทุนที่ดีที่สุด

 
ซื้อแล้วถือยาว

การซื้อแล้วถือยาว อาจจะดูเหมือนการนำกำไรมาลงทุนซ้ำ แต่จริงๆ แล้วแตกต่างกัน เพราะการนำกำไรไปลงทุนซ้ำ เราอาจจะนำเงินไปลงทุนกับหุ้นตัวอื่น หรือสินทรัพย์ชนิดอื่นๆ

แต่การซื้อแล้วถือยาวนั้น เป็นเหมือนการซื้อความเป็นเจ้าของบริษัท ที่อาจจะถือทิ้งไว้หลายปี โดยไม่สนใจว่าระหว่างทางธุรกิจนั้นจะได้รับผลกระทบอะไรหรือไม่ เป็นการลงทุนในระยะยาวกับธุรกิจนั้นๆ

ซึ่งข้อดีข้อเสียของการซื้อแล้วถือยาว คือ ถ้าเราเข้าซื้อในช่วงที่ธุรกิจยังไม่เติบโตมากๆ และวันหนึ่งธุรกิจที่เราเข้าไปลงทุนโตอย่างก้าวกระโดด 10-20 เท่า เราก็จะเติบโตไปพร้อมกับบริษัท แต่ถ้าเราเลือกบริษัทผิด และบริษัทนั้นไม่มีอัตราการเติบโตที่ดีพอ ก็อาจจะได้รับผลตอบแทนแค่เงินปันผล

 
การลงทุนแบบ Passive

เป็นการลงทุนในกองทุนดัชนี เช่น กองทุนดัชนี SET50 ที่รวมบริษัทที่ใหญ่ที่สุด 50 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ซึ่งเป็นกลยุทธ์การลงทุนตามทิศทางทั่วไปของตลาดโดยรวม หากภาพรวมของบริษัททั้ง 50 หรือ SET50 สูงขึ้น หน่วยลงทุนของคุณก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน และเมื่อรวมการลงทุนแบบ Passive เข้ากับวิธีการซื้อและถือไว้ จากสถิติแล้วจะได้ผลดี

ยกตัวอย่างจากตลาดในอังกฤษ ผู้ที่ลงทุนในบริษัทที่ใหญ่ที่สุด 100 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน FTSE100 เป็นเวลา 10 ปีระหว่างปี 1984 - 2020 มีโอกาสมากถึง 89% ที่จะได้กำไร

 
การลงทุนด้วยกราฟ Technical

เป็นการลงทุนโดยที่ไม่ต้องดูพื้นฐานของบริษัท หรืองบการเงินที่อาจจะต้องรอนาน 3-6 เดือน กว่าจะประกาศงบ

คนที่ลงทุนด้านเทคนิคจะอาศัยช่วงจังหวะว่าคนในตลาดนั้นคิดอย่างไรกับหุ้น โดยดูจากกราฟราคาหุ้น ข้อมูลราคาหุ้นในอดีต ปริมาณการซื้อขาย (Volume) พร้อมทั้งใช้เครื่องมือวิเคราะห์ทาง เทคนิคและอินดิเคเตอร์ (Indicator) ต่างๆ ในการทำนายทิศทางราคาหุ้น

ถึงแม้ว่าตลาดกำลังอยู่ในขาลง แต่เมื่อมีหุ้นตัวหนึ่งมีสัญญาณการเข้าซื้อ นักลงทุนแนว Technical จะมองว่าเป็นจังหวะกลับตัว และเข้าไปซื้อทำกำไร และจะขายออกเมื่อมีสัญญาณขายออก หรือเหตุการณ์ทำให้หุ้นกลับตัวเป็นขาลง

ทั้งนี้การลงทุนแนว Technical จะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีมากๆ แต่ก็จะต้องใช้ทั้งความรู้และประสบการณ์ในการศึกษาเป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน ทั้งการศึกษาความเคลื่อนไหวของตลาด องค์ประกอบที่สำคัญในการวิเคราะห์ทางเทคนิค โครงสร้างของกราฟราคา การวิเคราะห์แนวโน้มราคา การวิเคราะห์ปริมาณการซื้อขาย และเรียนรู้นิสัยหุ้น

 
สุดท้ายนี้ เราทุกคนต่างรู้ดีว่าการลงทุนความเสี่ยง มูลค่าการลงทุนนั้นสามารถลดลงและเพิ่มขึ้นก็ได้ เพราะฉะนั้นการเลือกเทคนิคการลงทุนให้เหมาะกับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

ที่มา wealthify.com

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

-NFT โอกาสสร้างรายได้ กับมูลค่าทางจิตใจบนโลกดิจิทัล
-รู้จักกับ Benyamin Ahmed เด็ก 12 ขวบ ที่สร้างรายได้จาก NFT มากถึง 13 ล้านบาท
Created with