‘Passion ที่ลึกซึ้งและจิตใจที่เปิดกว้าง’ 2 ขั้นตอนสู่ความสำเร็จที่ทุกคนสร้างได้ คำแนะนำจาก Sundar Pichai บิ๊กบอส Google

In Summary

  • ศุนทัร ปิจไช (Sundar Pichai) ซีอีโอของ Google ให้คำแนะนำเกี่ยวกับ 2 ขั้นตอนที่พาชีวิตเขาไปสู่ความสำเร็จไว้ในสุนทรพจน์พิธีจบการศึกษาเสมือนจริงของ YouTube ในปี 2020
  • ‘แพสชันที่ลึกซึ้งและจิตใจที่เปิดกว้าง’ คือคุณสมบัติหลักของขั้นตอนเหล่านี้ เริ่มต้นจากการตามหาแพสชันของตนเองให้เจอ และเปิดใจกว้างกับทุกความเป็นไปได้ แล้วดูว่าเส้นทางนั้นว่าจะพาเราไปถึงไหน
  • คาร์มายน์ แกลโล นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร เล่าเรื่องของเขาเองเพื่อเป็นอีกหลักฐานสนับสนุนขั้นตอนของปิจไช เพราะเขาเองก็ประสบความสำเร็จได้จากขั้นตอนลักษณะนี้เช่นกัน

ย้อนกลับไปเมื่อ 27 ปีที่แล้ว ในวันที่ ซุนดาร์ พิชัย (Sundar Pichai) มาถึงสหรัฐอเมริกา เขาในวันนั้นไม่เคยคิดด้วยซ้ำว่า อนาคตตัวเองจะกลายเป็นประธานของหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกอย่าง Google พิชัยยกความดีความชอบของความสำเร็จทั้งหมดให้กับ ‘แพสชันที่ลึกซึ้งและจิตใจที่เปิดกว้าง’ ซึ่ง 2 สิ่งนี้คือคุณสมบัติหลักของขั้นตอนสู่ความสำเร็จ ที่ทำให้เขากลายเป็นผู้บริหารในวันนี้

พิชัยเล่าเรื่องราวของเขาไว้ในสุนทรพจน์ของพิธีจบการศึกษาเสมือนจริงที่จัดโดย YouTube ในปี 2020 ว่า ครอบครัวของเขาเพิ่งมามีโทรศัพท์ใช้กันตอนเขาอายุ 10 ขวบ รวมไปถึงประสบการณ์การนั่งเครื่องบินครั้งแรกที่เขาเดินทางมายังสหรัฐอเมริกาเพื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และครั้งนั้นเขาก็ได้รู้ว่า ค่าน้ำหนักสัมภาระจำนวน 60 ดอลลาร์ แพงเทียบเท่าเงินเดือนของคุณพ่อของเขาทั้งเดือน

จากเด็กชายที่ไม่เคยใกล้ชิดกับเทคโนโลยีมากนัก เมื่อมาอยู่ที่สแตนฟอร์ด เขาสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้มากเท่าที่ต้องการ ความหลงใหลในเทคโนโลยีจึงเกิดขึ้น  จึงเดินตามเส้นทางที่ความหลงใหลหรือแพสชันนำพาเขาไป

ท้ายที่สุดก็ได้ลงเอยด้วยการเป็นผู้บริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google และมีเงินมากมายมหาศาลจนค่าสัมภาระไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกต่อไป

“สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผมตอนนั้นคือการได้ใช้คอมพิวเตอร์ นั่นเป็นครั้งแรกในชีวิตผมที่จะใช้คอมพิวเตอร์เมื่อไหร่ก็ได้ และกี่ครั้งก็ได้ นั่นมันสุดยอดมาก”

จากเรื่องราวของพิชัย เราคงได้เห็นกันแล้วว่าแพสชันและจิตใจที่เปิดกว้างสามารถเปลี่ยนชีวิตไปมากแค่ไหน วันนี้เราจะมาอธิบายถึง 2 ขั้นตอนหลักที่จะช่วยให้เราใช้แพสชันและใจที่เปิดกว้าง นำพาเราไปสู่จุดหมายสูงสุดได้
ขั้นตอนที่ 1: ค้นหาแพสชันของตัวเองให้เจอ

“ใช้เวลาค่อยๆ มองหาสิ่งที่ทำให้คุณตื่นเต้นได้มากกว่าอะไรก็ตามบนโลกใบนี้” ปิจไชแนะนำ

การจะมี ‘แพสชัน’ ได้นั้นต้องมีความกล้าก่อน เพราะสิ่งที่เรารักและตื่นเต้นกับมันบางครั้งอาจตรงกันข้ามกับสิ่งที่คนรอบข้างตัดสินว่าเราควรทำ

“ถ้าวันนั้นผมตัดสินใจเรียนต่อ ผมคงได้เป็นด็อกเตอร์ พ่อแม่ผมก็คงภูมิใจ แต่ผมก็จะพลาดโอกาสที่จะได้สร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ให้ประโยชน์แก่คนมากมาย และผมคงไม่ได้มายืนพูดอยู่ตรงนี้ในฐานะซีอีโอของ Google”

สำหรับพิชัยแล้วคำว่าแพสชันคืออะไรที่เหนือกว่าแค่หัวข้อหรือสาขาที่สนใจ แพสชันทางเทคโนโลยีของเขาไม่ใช่แค่ความชอบในเรื่องไอทีเท่านั้น แต่คือความตั้งใจและความเชื่ออย่างแรงกล้าที่จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนอื่นและทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นอีกระดับ

ขั้นตอนที่ 2: เดินตามแพสชันของคุณด้วยใจที่เปิดกว้าง

ขั้นตอนต่อไปที่จะพาคุณไปสู่ความสำเร็จในอาชีพการงานคือการตั้งมั่นไล่ตามแพสชันด้วย ‘ใจที่เปิดกว้าง’

เราสามารถตั้งมั่นในเป้าหมาย แต่มีใจที่เปิดรับทุกทางเลือกได้ไปพร้อมกัน ไม่จำเป็นต้องวางแผนเส้นทางของตัวเองให้เป๊ะทุกขั้นตอน อย่างตัวพิชัยเองก็เลือกเดินตามแพสชันในเทคโนโลยีเป็นเป้าหมายหลัก แต่ระหว่างทางก็เปิดใจดูว่าเส้นทางนี้จะพาเขาไปถึงจุดไหน

หลังจบการศึกษาจากสแตนฟอร์ด พิชัยได้เข้าทำงานในบริษัทผลิตสารกึ่งตัวนำ (Semiconductor) โดยในตอนต้นเขาเชื่ออย่างเต็มอกว่า นี่คือวิธีที่จะเดินตามแพสชันของเขาได้ดีที่สุด แต่สุดท้ายเขาก็เปลี่ยนเส้นทาง

“ผมต้องใช้เวลาสักพักถึงจะรู้อินเทอร์เน็ตเป็นวิธีเดียวที่ดีที่สุดในการทำให้คนเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น”

ทันทีที่เขาเปลี่ยนใจก็เบนสายไปหา Google และเข้าไปร่วมพัฒนาเบราเซอร์หลักของ Google หรือก็คือ Chrome ที่เรารู้จักนั่นเอง

แพสชันคือความตื่นเต้นที่ลึกซึ้ง คือภารกิจหลักในชีวิตเรา แต่การจะเปลี่ยนแพสชันของเราให้เป็นความจริงได้ต้องอาศัยใจที่เปิดกว้าง ปล่อยให้แพสชันได้ทำงานเต็มที่

“คุณสามารถเปลี่ยนโลกนี้ให้ดีขึ้นได้ในแบบของคุณ ถึงแม้ว่าตอนนี้คุณจะยังไม่รู้ว่าจะทำไงก็เถอะ” นี่คือสื่งที่พิชัยย้ำแก่นักศึกษาที่จบในปี 2020 ผ่านสุนทรพจน์นั้น “สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเปิดใจให้กว้างไว้ แล้วคุณจะเจอสิ่งที่คุณรักจริงๆ เอง”
คาร์มายน์ แกลโล (Carmine Gallo) ผู้เขียนบทความเกี่ยวกับปิจไชใน inc.com ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร และเขียนหนังสือ Talk Like TED และ The Storyteller’s Secret ได้เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวที่ตรงกับคำแนะนำของปิจไชไว้ในบทความด้วย ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ที่ดียิ่งขึ้นไปอีกว่า 2 ขั้นตอนนี้ใช้ได้ผล

“ผมมักจะพูดเสมอว่าแพสชันคือทุกสิ่ง คุณไม่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้ ถ้าคุณยังไม่มีแรงบันดาลใจให้ตัวเอง ถึงแม้ว่าเจ้าคำพูดที่ว่าให้ ‘ออกเดินทางตามหาแพสชันของเรา’ มันฟังดูง่าย แต่การจะรู้แน่ชัดว่าแพสชันของเราคืออะไร หรือเรากำลังหาอะไรอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ยากกว่า หลังจากที่ผมเขียนหนังสือเกี่ยวกับผู้นำและการสื่อสารไปกว่า 10 เล่ม และได้พบนักธุรกิจใหญ่ที่มีชื่อเสียงโด่งดังของโลกอีกหลายคน ผมถึงได้เข้าใจมากขึ้นว่าแพสชันคืออะไรและจะวิ่งตามมันยังไง” แกลโลเสริม

“สมัยเรียนมหาลัย ผมมีแพสชันกับเรื่องการสื่อสารและภาวะผู้นำ ถึงผมไม่รู้ว่าจะหาเงินหรือสร้างอาชีพจากมันได้อยากไร แต่ผมก็เปิดใจให้กว้างไว้ และรอดูว่าเส้นทางนี้จะพาผมไปถึงไหน”

แกลโลเริ่มเรียนกฎหมายก่อนที่จะไปเปลี่ยนเป็นวารสารศาสตร์ภายหลัง “ผมเชื่อว่าอาชีพทางด้านสื่อจะตอบโจทย์แพสชันของผมได้ ซึ่งมันก็ได้อยู่พักหนึ่ง แต่ผมก็เปิดใจให้กว้างรอทางเลือกอื่นๆ ด้วย ท้ายที่สุดผมกลายมาเป็นนักเขียน นักพูด และโค้ช ซึ่งตำแหน่งอาชีพพวกนี้ไม่มีอันนั้นอยู่ในเส้นทางเวอร์ชันแรกของผมเลย แต่แพสชันนี่แหละที่พาผมมาสู่เส้นทางนี้

“แพสชันคือสิ่งที่ว่างโครงร่างคร่าวๆ ให้อาชีพผม แต่ใจที่เปิดกว้างเนี่ยแหละคือสิ่งที่มอบโอกาสใหม่ๆ ให้ผม”

Source

Created with