บทความพิเศษจาก : คุณชนิตร์นันทน์ ปุณณะนิธิ
ผู้ประกาศข่าวสาวมากประสบการณ์จากสถานีทีวีช่อง 8 และอดีตผู้ประกาศข่าวช่อง TNN 24
คิดเหมือนดิฉันมั้ยคะ?
ทุกวันนี้ เป็นยุคแห่งสงคราม
สงครามการต่อสู้กับ “Covid-19”
ในยุคสงครามมักจะมีแต่ความสับสนวุ่นวาย ข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจตกต่ำ ความหวาดกลัว ความวิตกกังวลเกิดขึ้นทุกหัวระแหง กลัวไม่มีจะกิน กลัวว่าเราจะตาย ไม่รู้ว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น
โดย ชนิตร์นันทน์ ปุณณะนิธิ
ในยุคสงคราม เราต้องการกองทัพ ใครครอบครองสื่อ..ก็ถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่ง!!
ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝั่งของฝ่ายอักษะ ผู้นำเยอรมันนี อย่าง ฮิตเลอร์ ได้ใช้ยุทธการโฆษณาชวนเชื่อใน เผด็จการนาซี และลัทธิฟาสซิสต์ เชื่อในเผด็จการ เชื่อในสงคราม รวมถึงแนวคิดเลือดอารยัน (คือกลุ่มคนเลือดบริสุทธิ์) ในขณะที่ฝั่งพันธมิตร ผู้นำอเมริกาอย่าง ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเวลต์ ก็ยังต้องพึ่งพากลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ เพื่อจูงใจให้คนอเมริกัน เห็นความจำเป็นที่ต้องเข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตร
คำถามคือ แล้วเรามีกองทัพร่วมรบกับ กองทัพของ Covid-19 หรือยัง ? เพราะอะไร ?
ความร่วมมือร่วมใจ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชาติคือสิ่งสำคัญในการร่วมรบ แต่ขณะเดียวกันผู้นำ ต้องมีความเข้าใจ และสร้างพลังของคนในชาติขึ้นมาให้ได้ ด้วย “การสื่อสาร” ที่ถูกต้อง ตรงประเด็น
เราเคยผ่านเหตุการณ์ที่ คนทั่วโลก แห่ชื่นชมในการบริหารสถานการณ์ในภาวะวิกฤติ มาแล้ว จำได้มั้ยคะ “13 หมูป่า ที่ถ้าขุนน้ำนางนอน” ซึ่งถ้าพูดถึงเหตุการณ์นี้ ต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ
- การบริหารสถานการณ์ (Operation)
เราจะเห็นการทำงานอย่างเป็นเอกภาพ จากทุกภาคส่วน ด้วยความเต็มใจ และเต็มศักยภาพ ภายใต้ Single Command ของ อดีตผู้ว่าราชการ จังหวัดเชียงราย ด้วยพันธกิจที่เป็นเป้าหมายเดียวกัน คือ 13 หมูป่าต้องออกจากถ้ำอย่างปลอดภัย
- การสื่อสาร (Communication)
ถึงแม้ช่วงแรกจะเห็นความสับสนของการให้ข่าว เนื่องจากแต่ละสำนักข่าว ต่างแข่งกันทำข่าวให้ลึกและเร็ว และเข้าไปในพื้นที่ๆไม่ควรจะเข้าไป จนโดนสังคมประณาม แต่หลังจากนั้นระยะหนึ่ง เราจะเห็นศูนย์ข่าว (Media Center) และทีมแถลงข่าว ที่จะออกมาในแต่ละช่วงเวลาของวัน ซึ่งจะกำหนดตัวผู้ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน ตามแต่ด้านที่เกี่ยวข้อง ใครควรเป็นผู้พูด อะไรพูดได้ อะไรพูดไม่ได้ พูดแค่ไหน พูดตอนไหน เพื่อควบคุมกระแสข่าวที่ถูกต้อง และน่าเชื่อถือ
คำถามต่อมาคือ ในสงคราม Covid-19 และภาวะวิกฤติเช่นนี้ เราตอบโจทย์แม้เพียง แค่ 2 ข้อนี้ได้หรือยัง?
มีอีกหนึ่งตัวอย่างค่ะ ใกล้ตัวมากๆ และล่าสุด สดๆ ร้อนๆ จริงๆ กับการต่อสู้กับ สงคราม Covid-19
…(พาดหัวข่าว)… “องค์การอนามัยโลก (WHO) และผู้เชี่ยวชาญ ด้านสาธารณสุข ยกย่อง นายกรัฐมนตรี ลีเซียนลุง ของสิงคโปร์ ให้เป็นต้นแบบในการรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยใช้วิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน บรรเทาความตื่นตระหนก ขจัดข่าวลือและทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ ขณะเดียวกัน ได้ติงการสื่อสารที่สร้างความสับสนให้กับประชาชนของ ผู้นำฮ่องกงและไทย”
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า แถลงการณ์เพียง 9 นาทีที่เผยแพร่ ทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติสิงคโปร์ เมื่อ 9 ก.พ.ของนายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง ได้ช่วยขจัดความวิตกกังวลของประชาชนได้อย่างเห็นผลทันที
สิ่งที่ นายลี ทำ และสิ่งที่ WHO ชื่นชม คืออะไร?
- โปร่งใส ไม่ปกปิดข้อมูลว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเท่าไหร่
- ให้ความเข้าใจ และสร้างความอุ่นใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
- อธิบายว่า ไวรัส Covid ไม่ได้น่ากลัวเท่าโรคซาร์ส ที่เคยระบาดเมื่อปี 2003 และเคยประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา เปรียบเทียบความแตกต่าง 2 โรค เพื่อให้ประชาชนเห็นภาพ
- แต่ก็มีมาตรการรับมือกับไวรัส Covid อย่างไม่ประมาท เนื่องจากยังไม่มีใครรู้อนาคตว่าจะรุนแรงแค่ไหน โดยแจกแจงว่าเราจะทำอะไรบ้าง และตอนนี้ต้องทำอะไร
- สร้างความเชื่อมั่นด้วย ท่าที น้ำเสียง บุคลิก ที่เชื่อมั่น จริงจัง มีพลัง แต่ก็ดูอบอุ่น และเป็นมิตร
- แจกแจงมาตรการรับมือของรัฐบาล
– นายลี พูดถึงมาตรการของรัฐบาล และสามารถปรับเปลี่ยนได้ถ้ามีการแพร่ระบาด เป็นวงกว้าง พร้อมยืนยัน “จะแจ้งข้อมูลทุกขั้นตอน”
นายกรัฐมนตรี ลีเซียนลุง ของสิงคโปร์
– มีการจัดเตรียมเครื่องมือทางการแพทย์ มีหมอ พยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญ สถานที่รองรับ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หน้ากากอนามัย ทุกอย่างเพียงพอ มีการศึกษาเรื่องไวรัสอย่างต่อเนื่อง และมีการเตรียมการด้านจิตวิทยา เพื่อให้ชาวสิงคโปร์รู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น และควรเตรียมรับมืออย่างไร
- ให้แนวทางกับประชาชนในการป้องกันไวรัส
– ให้ข้อมูลกับชาวสิงคโปร์ว่าจะเตรียมรับมือกับระยะต่อไปอย่างไร
น.ส.โอลิเวียร์ ลอว์ เดวีส์ โฆษกองค์การอนามัยโลก ระบุว่า “ความโดดเด่นในการสื่อสารในยามวิกฤติของสิงคโปร์ สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการสื่อสารกับประชาชนเป็นวงกว้าง”
น.ส.โอลิเวียร์ ลอว์ เดวีส์
นายโธมัส อับราฮัม เจ้าของหนังสือ Twenty First Century Plague, the Story of SARS และที่ปรึกษาการสื่อสารความเสี่ยง ของ WHO ระบุว่า ถ้อยแถลงของผู้นำสิงคโปร์ได้ผล เพราะชาวสิงคโปร์มีความเชื่อมั่นในความสามารถ และความโปร่งใสของรัฐบาลสูง
“ความหวาดกลัว จะสร้างความเสียหายยิ่งกว่าเชื้อไวรัส ”
-ลี เซียน ลุง
นี่แสดงถึงประสิทธิภาพการสื่อสารของผู้นำถึงประชาชน ยังไม่รวมถึงวิธีการรับมือ ที่ยังมีอีกหลายประเทศซึ่งมีมาตรการในการจัดการกับ Covid-19 อย่างเด็ดขาดและเห็นผลในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน เช่น จีน ไต้หวัน หรือญี่ปุ่น
ถามว่าตอนนี้เราคนไทย ต้องการรับรู้อะไรจากรัฐบาลในสถานการณ์นี้บ้าง
ถ้าให้ตอบในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ดิฉันก็เชื่อว่า…
- เราอยากรู้ข้อมูลจริง
- ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมีแค่นี้จริงหรือ?
- ทำไมบางคนที่เป็นผู้ติดเชื้อจึงไม่ต้องเปิดเผยชื่อ แล้วคนอื่นจะรู้ได้อย่างไรว่าไปเจอคนเหล่านี้หรือเปล่า?
- ตกลงประเทศเราเข้าสู่การระบาดระยะที่ 3 หรือยัง?
- เพราะอะไรเราจึงไม่ต้องปิดเมือง หรือเราทำอะไรไปแล้วบ้าง
หรือแม้กระทั่งว่า ถ้าตอนนี้เราได้รับข้อมูลจริงอยู่แล้ว แต่ทำไมคนไม่เชื่อ?
- อยากเห็นมาตรการที่ชัดเจนจากรัฐบาล
- ตอนนี้การระบาดอยู่ที่ระยะไหน รัฐบาลทำอะไรแล้วบ้าง ที่เป็นห่วงคืออะไร และถ้าต้องเข้าสู่ระยะต่อไป นอกจากจะบอกว่ารัฐบาลเตรียมอะไรไว้แล้ว เราก็อยากรู้ด้วยว่าประชาชนควรทำตัวอย่างไรบ้าง เพราะเราไม่รู้เรื่องอะไรเลยก่อนจะเกิดเหตุ แต่มักจะรู้หลังเกิดไปแล้วมากกว่า เช่นมีการปิดจุดเสี่ยงหลายจุดในกรุงเทพ คนเลยแห่กลับต่างจังหวัด โดยไม่มีมาตรการที่ป้องกันการเคลื่อนย้ายใดๆ มาก่อน
- เมื่อทางการประกาศปิดสถานที่ต่างๆ ก็ย่อมเกิดคนว่างงานทันทีในจำนวนมหาศาลถามว่าตรงนี้จะบริหารจัดการอย่างไร จะมีการพักหนี้ได้บ้างหรือไม่ และอีกหลายคำถาม
- การบริหารจัดการแบบ Single Command เป็นเรื่องจำเป็นหรือยังในภาวะวิกฤติเช่นนี้ และเฉพาะแค่การปิดเมือง เราควรให้อำนาจผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดได้จริงหรือไม่? เช่น ผู้ว่าฯกทม.สั่งปิดหลายสถานที่เริ่ม 22 มีนาคม แต่เกิดปัญหาการเคลื่อนย้ายคนออกจากกรุงเทพฯเป็นจำนวนมากตามมาอย่างที่เห็น ซึ่งกลายเป็นว่าเหมือนเร่งการระบาดให้เร็วขึ้น จากที่กังวลว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์
- อยากรับรู้ข้อมูลที่เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่สร้างความสับสนเช่นทุกวันนี้
- เรามีศูนย์ฯ การแจ้งข่าวหลายศูนย์จนสับสน
- ผู้กำหนดทิศทางข่าวของประเทศ คือใคร? ที่ควรจะมาจากแหล่งเดียว ไม่สร้างความสับสน
- เราอยากเห็น ความเป็นพวกเดียวกัน ความเป็นผู้นำ ความอบอุ่น ความเป็นมิตร จากรัฐบาล ที่ไม่ใช่ผลักประชาชน ออกมายืนอยู่คนละฝั่งกัน
และทั้งหมดทั้งมวล สิ่งที่รัฐบาลควรจะสื่อสารกับประชาชนในภาวะวิกฤติให้มีประสิทธิภาพนั้น ก็หนีไม่พ้นการตอบคำถามเหล่านี้เป็นแกน
- การประมวลเหตุผลว่า สิ่งที่ประชาชน อยากรู้คืออะไรบ้าง?
- จะมีมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นอย่างไร?
- มีผลกระทบอะไรบ้างที่ต้องเกิดตามมาหลังมาตรการเหล่านี้? แล้วเตรียมการรองรับอย่างไร? เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ คนไม่มีงานทำ เป็นต้น
- มีมาตรการรับมือกับอนาคตที่จะมาอย่างไร? มีแผนในการก้าวล้ำนำหน้าปัญหาไปก่อน 1 ก้าวได้อย่างไร เพื่อให้เตรียมตัว
- ประชาชนต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง เพื่อรับกับแต่ละมาตรการ ขอชัดๆ
- ปลุกพลังใจ สร้างความเชื่อมั่น ว่าเราจะผ่านเหตุการณ์นี้ไปด้วยกัน สร้างความเชื่อมั่นในตัวผู้นำเหตุการณ์
แน่นอนว่ามาตรการหลายอย่างที่สื่อสารผ่านมาทางกระทรวงสาธารณสุข เป็นเรื่องที่ต้องขอชื่นชมว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่เสียดายที่ขาดการสื่อสารกับประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้น การบริหารสถานการณ์ที่ดี จึงต้องเคียงคู่ไปกับการสื่อสารที่ดีเสมอ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ในภาวะวิกฤติเช่นนี้…เพราะเราต้องการความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจของคนในชาติทุกคน เพื่อผ่าน “สงคราม Covid-19” นี้ไปให้ได้พร้อมกัน
ขอเป็นกำลังใจให้คนไทยทุกคน
#อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ
No Comments